“หมี่จักราช” หมี่โคราชแปรรูปฝีมือทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ธ.ก.ส.


 
ภูมิปัญญา..ทำนาครบวงจร แปรรูปเป็นหมี่จักราช
คุณเชาวลิต พระชนะ บุรุษพยาบาล รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลสีสุก อ.จักราช จ.นครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า “การทำเกษตรเชิงเดี่ยวต่อให้ขยันแค่ไหนก็ไม่มีเงินเก็บ แค่พอกินพอใช้จ่าย ถึงภาครัฐจะรณรงค์ยังไง ชาวบ้านยังคงทำเกษตรแบบล้าหลัง ปลูกพืชผักมีคุณภาพ หนีไม่พ้นถูกพ่อค้าคนกลางกำหนดราคารับซื้อ เห็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เลยคิดอยากจะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้กำหนดราคาบ้าง”
ในปี 2549 คุณเชาวลิตได้มีโอกาสไปดูงานด้านการเกษตรในวังสวนจิตรลดา และในแต่ละย่างก้าวคิดตลอดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน พระองค์ท่านยังมีสวนเกษตรอยู่ในบ้านมากมายหลายอย่าง ทั้งแปลงนา เกษตรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ เห็นแล้วจึงอยากทำตามอย่างบ้าง  หลังจากกลับมาจากการดูงานในครั้งนั้น  จึงได้กลับมาเอ่ยปากชวนพ่อแม่ให้เปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน  แต่ก็ไม่ได้ผล ต้องหยุดพักไป 2 ปี จนเรียนจบรับราชการเป็นบุรุษพยาบาล แต่ถึงกระนั้น  ก็ยังไม่ทิ้งฝันในอดีต  โดยได้ขอที่ดิน 2 ไร่จากพ่อทำสวนเกษตรผสมผสานอย่างที่ตั้งใจไว้

สวนเกษตรผสมผสานแปลงแรกได้ผล จึงขอพื้นที่จากพ่อเพิ่มเป็น 7 ไร่ นอกจากพ่อจะไม่ปฏิเสธยังเข้ามาช่วยดูแล  ครั้งนี้ คุณเชาวลิต เข้าร่วมโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ธ.ก.ส. ไปดูการทำปุ๋ย ปลูกผักปลอดสารพิษ  หลังจากกลับมาก็ได้แบ่งพื้นที่ปลูกป่า ปลูกดอกขจร ปลูกครั้งเดียวเก็บดอกขายได้นาน 4 ปี ช่วงฤดูฝนจะชำต้นขาย รายได้ดีกว่าเก็บดอกอีกด้วย

นอกจากนี้  คุณเชาวลิต  ยังได้เล่าเพิ่มเติมอีกด้วยว่า  เมื่อก่อนปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ระยะหลังราคาเริ่มถูกลงเรื่อยๆ หากยังทำเหมือนเดิมคงไม่ต่างอะไรกับลูกจ้างโรงสี เพราะหักต้นทุน ค่าแรง การจัดการแทบไม่เหลืออะไร ครั้นจะเลิกทำนาต้องไปซื้อข้าวคนอื่นกิน ในเมื่อยังไงต้องปลูกข้าวไว้กินเอง เลยมาคิดใหม่ต้องทำนาในแบบครบวงจร ปลูกเอง แปรรูปเอง ขายเอง ไม่ใช่ขายเป็นข้าวเปลือกให้โรงสี
ด้วยแนวคิดนี้ เชาวลิต พระชนะ เกษตรกรควบตำแหน่งบุรุษพยาบาล รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลสีสุก  อ.จักราช จ.นครราชสีมา จึงค้นหาวิธีปลูกข้าวแบบครบวงจร  และยังจำได้ว่าสมัยคุณแม่ยังสาว ที่บ้านทำหมี่จักราชขาย แต่เดี๋ยวนี้หากินได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวรสชาติความหอมไม่เหมือนหมี่จักราชแท้ๆ ที่ทำมาจากข้าวพันธุ์เหลืองประทิว ภูมิปัญญาแปรรูปในครอบครัวมีพร้อม ตัดสินใจปลูกข้าวเหลืองประทิวแทนหอมมะลิ


          เราปลูกข้าวไว้กินเอง เลยทำนาแบบปลอดพิษ เอาต้นขี้เหล็ก ไม้โตไวมาปลูกบริเวณรอบนอกไว้เป็นแนวป้องกันละอองสารเคมีจากนาเพื่อนบ้านที่อาจถูกลมพัดเข้ามาแถวด้านในถัดมาลงหญ้าแฝกไว้คอยดูดซับสารเคมีจากที่อื่นๆที่ไหลเข้ามาในนา


ส่วนการทำเส้นหมี่จักราช เชาวลิต บอกว่า หลังนำข้าวเปลือกไปสีเป็นข้าวสารนำมาแช่น้ำ 4 ชม. เอามาล้างด้วยน้ำเปล่า 5 ครั้ง เพื่อกำจัดกลิ่นอับ จากนั้นนำไปโม่น้ำให้เป็นแป้งเหลวๆ แล้วนำมาละเลงให้เป็นแผ่นบางๆแบบเดียวกับทำขนมปากหม้อ ได้เป็นแผ่นนำวางบนแผงไม้ไผ่ผึ่งแดดให้หมาดๆ
ข้าวสารเหลืองประทิว 10 กก. ราคา 200 บาท แปรรูปเป็นหมี่จักราชได้ 500 มัด มัดละ 5 บาท รวมแล้ว 2,500 บาท  ดีกว่าปลูกข้าวหอมมะลิขายเป็นข้าวเปลือกที่ได้แค่ กก.ละ 8 บาท ในขณะที่ข้าวเปลือกเหลืองประทิว 1 กก. แปรรูปเป็นหมี่จักราชขายได้ 125 บาท เพิ่มมูลค่าได้ถึง 15 เท่าเลยทีเดียว



ในที่สุดผลจากการเดินตามรอยพ่อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของคุณเชาวลิต  จึงส่งผลให้ทุกวันนี้ ครอบครัวพระชนะมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ซึ่งเท่ากับรายได้ที่เคยปลูกอ้อยกับมันฯตลอดทั้งปีเสียอีก

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสั่งซื้อสินค้าได้ที่ 

นายเชาวลิต พระชนะ
2 ม.3 ต.สีสุก อ.จักราช จ.นครราชสีมา
โทรศัพท์ 099 – 861- 6984
เฟสบุค : ไร่วลิต ฟาร์ม
ที่มาข้อมูล: เพ็ญพิชชา เตียว

******************************************
ติดตามข้อมูล SME เกษตร ธ.ก.ส. เพิ่มเติมได้ที่
เฟสบุคแฟนเพจ  “SMAEs CLUB”  URL: https://m.facebook.com/smaesbaac/  
เว็บไซต์ URL: https://smaesclub.com/  


ความคิดเห็น