เนื้อโคขุนโพนยางคำ เนื้อไทยเฟรนซ์ Thai-French Beef




              การดำเนินการ ในช่วงแรกเกิดจากกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) ซึ่งตั้งขึ้นที่บ้านโพนยางคำ แต่ต้องการใช้งานพัฒนานำร่องในการแก้ปัญหาทางการเมือง(คอมมิวนิสต์)และเห็นว่าชาวบ้านเลี้ยงโคแทบทุกครอบครัวและสภาพพื้นที่ เป็นเนินเขาเหมาะสมในการเลี้ยงโค เลยเอาเป็น
ประเด็นนำ จึงได้ของบประมาณจากรัฐบาลจัดหาน้ำเชื้อโคพันธุ์เนื้อจากต่างประเทศมาผสมเทียมโดยไม่คิด
มูลค่าให้แก่สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคในภาคอีสาน แต่ยังประสบปัญหาไม่มีตลาดรองรับเนื้อโคพันธุ์ลูกผสม กรป.กลางจึงได้ขอความร่วมมือจากประเทศฝรั่งเศส และมีการจัดตั้งสหกรณ์กรเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง บ้านโพนยางคำขึ้นในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งทางรัฐบาลฝรั่งเศส โดยสถานเอกอัครราชทูตได้ส่งนายฟรังซัวส์ แดร์โฟซ์มาประสานงานโครงการ การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ไทย ตลอดจนสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและบริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย
               คุณมาลัย จงเจริญ นักวิชาการสหกรณ์ฯเล่าให้ฟังว่า ในปีแรกสหกรณ์มีสมาชิก 50 คน เอง
เพราะตอนนั้น ชาวบ้านยังไม่รู้จักสหกรณ์ ไม่รู้จักโคลูกผสม ส่วนการซื้อขายโคก็คุ้นเคยกับการขายผ่านนาย
ฮ้อย โคลูกผสมที่หน้าตาแปลกๆนายฮ้อยก็กดราคา เลยขายไม่ออก คุณฟรังซัวส์ ก็ถูกส่งมา  เพื่อจัดการในเรื่องนี้กระทั้งหมดโครงการก็ขอทำต่อเพื่อพัฒนาทั้งระบบสหกรณ์ ระบบพัฒนาสายพันธุ์ ระบบการเลี้ยง โคในแต่ละระยะตลอดถึงระบบโรงชำแหละและการตลาด”
               ตอนนี้สหกรณ์ชำแหละโคขุนปีละ ประมาณ 8,000 ตัว มีฝ่ายการตลาด ในกรุงเทพฯ 2 สาขา
และมีร้าน และห้องเย็นสั่ง ไปจำหน่ายอีก เกือบ 20 ร้าน ยอดจำหน่าย ต่อปี ประมาณ 480 ล้านบาท มี
พนักงานทั้งหมด 38 คน”
               สหกรณ์ฯมีโคเนื้อจากสมาชิกสามัญทั้งหมด ประมาณ 20,000 ตัว และโค จากสมาชิกสมทบอีกประมาณ 10,000 ตัว และแต่ละปีจะขึ้นทะเบียนล่วงหน้าปีละ 8,000 ตัว
               - ผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสามัญจำนวน 5,846 คน และสมาชิกสมทบที่อยู่
ในภาคอีสาน และมาสมัครในนามกลุ่ม อีก 22 กลุ่มจำนวน 800 คน
               - แรงงานในการผลิต แรงงานเลี้ยงโคประมาณ 10,000 คน


ผลิตภัณฑ์และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์
               นานกว่า  39  ปี ในการสร้างตราสินค้าในนาม เนื้อโคขุนโพนยางคำหรือ เนื้อไทยเฟรนซ์ Thai-French Beef ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการในตลาดเนื้อโคขุน คุณภาพ สหกรณ์ฯ โพนยางคำ ต้องดูแลควบคุมมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ การเลี้ยงโคของสมาชิก การจัดหาพันธุ์ การผลิตอาหารข้น การชำแหละและตัดแต่งตามหลักสากล การบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ จนได้เนื้อโค ที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย สำหรับผู้บริโภค จากการเติบโตอย่างช้าๆ แต่ก้าวย่างอย่างมั่นคง โดยมุ่งเน้นความสม่ำเสมอในคุณภาพสินค้า สร้าง ความ มั่นใจให้แก่ลูกค้า ทุกระดับนับได้ว่า สหกรณ์ฯ โพนยางคำ เป็นผู้ ผลิตและจำหน่ายเนื้อโคคุณภาพในระดับแนวหน้าของประเทศ เป็นต้นแบบของการรวมกลุ่มผู้ผลิตที่มีการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตสอด คล้องกับการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ระดับชุมชนอย่างแท้จริง
               เนื้อโคขุนโพนยางคำหรือเนื้อไทยเฟรนซ์ (Thai-French Beef) เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผู้บริโภค และผู้ประกอบการในตลาดเนื้อโคขุน คุณภาพ ซึ่งผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยและได้รับความเชื่อถือว่าเป็นเนื้อที่มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย โดยมีคุณภาพทัดเทียมกับเนื้อโคที่นำเข้า จากต่างประเทศ สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)ได้ ทั้งจาก SMS บนมือถือจาก Traceability Codeที่ปรากฏบนป้าย กำกับ ชิ้นส่วนเนื้อ

               คำว่า คุณภาพ” ของ เนื้อโพนยางคำหมายรวมถึง
-          คุณภาพด้านการผลิต เริ่มตั้งแต่พันธุ์โค การคัดเลือกโคขุน การเลี้ยงดู อาหารข้น อาหารหยาบ การจัดการ ป้องกันโรค จนถึงส่งโรงฆ่าและชำแหละ ที่มีมาตรฐาน
-          คุณภาพการบริหารจัดการของสหกรณ์ฯ โดยการจัดระบบขึ้นทะเบียน ลูกโค และโคขุนการบริการ ผสมเทียม จากเจ้าหน้าที่ การป้องกันรักษาโรคจาก สัตวแพทย์ การผลิตอาหารข้นที่ปลอดสารต่างๆ การประเมินโคขุน มีระบบบันทึก ข้อมูลทำให้สามารถ ตรวจสอบย้อนกลับ จากชิ้นเนื้อมายังตัวโคได้ โดยการใช้ระบบ RFID ที่ทันสมัย การให้ราคาตาม น้ำหนัก ซากอุ่นและระดับ คะแนนไขมันแทรก  และมีรางวัลพิเศษสำหรับสมาชิกที่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และคำแนะนำของสหกรณ์
-          คุณภาพของเนื้อ โดยผ่านการแปรสภาพและตัดแต่งอย่างถูกสุขลักษณะ เนื้อผ่านการบ่ม ตามหลักสากล มีการสุ่มตรวจ หาจุลินทรีย์และ สารตกค้างในเนื้อ


กระบวนการ
               โคขุนโพนยางคำมีที่มาจากโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส เกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อ-แม่พันธุ์โคเนื้อ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชาโรเลย์ส (Charolais) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส เป็นสายพันธุ์หลัก,
พันธุ์ซิมเมนทอล (Simmental) ถิ่นกำเนิดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และพันธุ์ลิมูซีน (Limusin) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส
               หลังจากลูกโคสายเลือดผสมมีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว ก็จะเข้าสู่วิธีการ "ขุนโค" โดยจัดการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน และตอนก่อนที่จะนำเข้าคอก ทางสหกรณ์ใช้เทคนิคการให้โคฟังเพลงเพื่อให้วัวกินอาหารได้มาก โดยเชื่อว่าเนื้อวัวที่ได้จะนุ่มเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติเป็นหลัก แบ่งเป็นอาหารหยาบที่ใช้หญ้าหรือฟาง เสริมด้วยอาหารสูตรพิเศษที่ใช้ธัญพืชในการผลิต ซึ่งเชื่อกันว่าเนื้อโคจะมีกลิ่นหอมและรสหวานยิ่งขึ้นและที่คอกวัวนั้นมีการดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี ทำความสะอาดพื้น เก็บมูล อาบน้ำวัว แปรงขัดขน ให้วัวกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยย่นระยะเวลาการขุนโคจากเดิมประมาณ 1 ปี ลงเหลือ 8-9 เดือน
               เมื่อขุนโคเสร็จแล้วก็นำมาชำแหละในโรงฆ่ามาตรฐาน แล้วนำไปเก็บบ่มนาน 7 วัน ก่อนจะมีการให้คะแนนไขมันแทรก แล้วตัดแบ่งชิ้นส่วนและกำหนดเรียกชื่อตามแบบฝรั่งเศส 17 ส่วน ใช้มาตรฐานของฝรั่งเศส
ราคา
ในปี พ.ศ. 2554 ราคาเนื้อโคขุนโพนยางคำเกือบสามสิบรายการมีตั้งแต่หนึ่งร้อยถึงหนึ่งพันบาทต่อกิโลกรัม เนื้อที่มีราคาต่ำสุด คือ เนื้อย่าง (5 กิโลกรัม) กิโลกรัมละ 115 บาท ที่มีราคาสูงที่สุด คือ เนื้อสันใน กิโลกรัมละ 1,050 บาท ซึ่งโรงแรมดุสิต โฮเต็ล ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร จำหน่ายสเต๊กในราคาเริ่มต้น 280 บาท และเมนูชาบูเริ่มต้นที่ 350 บาท

ความนิยม
               ปัจจุบันโคขุนโพนยางคำได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลาดเนื้อโคชำแหละในบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีตัวแทนจำหน่ายต่างประเทศที่จังหวัดปทุมธานี มีสหกรณ์จำหน่ายในจังหวัดสกลนคร ปัจจุบันสามารถผลิตโคได้ 55 ตัวต่อวัน ชำแหละสัปดาห์ละ 2 วัน  จากความสำเร็จของโคขุนโพนยางคำ ทำให้มีการแอบอ้างโดยร้านค้าหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค โคขุนโพนยางคำจริงจะมีป้ายรับรองมาตรฐานของสหกรณ์ติดอยู่หน้าร้าน


               อาชีพโคเนื้อในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ชาวบ้านผู้เลี้ยงโคขุนคนหนึ่งบอกว่า ตนได้กำไรจากการเลี้ยงโคขุนโพนยางคำปีละกว่า 300,000-350,000 บาท

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:

สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จก.
ที่อยู่: 173/8 หมู่ 10 ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัด สกลนคร 47000
โทรศัพท์:    0-4275-6126-7

************************************


ติดตามข้อมูล SME เกษตร ธ.ก.ส. เพิ่มเติมได้ที่

เฟสบุคแฟนเพจ  “SMAEs CLUB”  URL: https://m.facebook.com/smaesbaac/
เว็บไซต์ URL: https://smaesclub.com/




ความคิดเห็น