ทัศนีย์สายใยไหมฝ้าย ผ้ากาบบัวบ้านปะอาว



     ทัศนีย์ พรสี่ ประธานกลุ่มอาชีพตัดเย็บกระเป๋า กลุ่มผ้ากาบบัวทอมือ ต.ปะอาว อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงยอดการจำหน่ายสินค้าทอมือประเภทผ้าไหม และผ้ากาบบัว ว่า ปีนี้กระแสการซื้อผ้าไหมลดลงจากเดิม แต่ก็ยังจำหน่ายได้เรื่อยๆ เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงมานาน กลุ่มลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
       

     ประวัติบ้านปะอาว  ชาวบ้านปะอาวมีเชื้อชาติเดิมเป็นลาวแท้ ๆ (ลาวเวียงจันทร์) สมัยนั้น ที่นครเวียงจันทร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศลาวได้เกิดกบฏขึ้นกลางเมือง มีกองทัพกลุ่มหนึ่งพากันอพยพหนีข้ามลำน้ำโขงมาฝั่งไทย โดยตั้งถิ่นอาศัยอยู่ที่หนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันคือจังหวัดหนองบัวลำภู) ผู้นำกองทัพของชนกลุ่มนั้นมี 2 คน เรียกกันว่า พระวอพระตาแต่ก็มีกองทัพข้าศึกติดตามมาจึงถูกข้าศึกฆ่าตายที่หนองบัวลำภูนั่นเอง คงเหลือแต่พระวอได้พาไพร่พลอพยพเลาะเลียบฝั่งแม่น้ำโขงลงมา แล้วพากันข้ามไปประเทศลาวอีกครั้งแต่ก็ยังถูกรุกรานทางการเมืองอยู่ จึงพากันหนีข้ามมายังฝั่งไทยอีกครั้ง เลาะเลียบฝั่งโขงลงมาถึงดอนมดแดง ติดฝั่งแม่น้ำมูล พระวอพร้อมด้วยลูก ๆ ของพระตาและหมู่พสกนิกร จึงพากันปลูกหลักปักฐานเป็นเมืองอุบลราชธานีจนถึงทุกวันนี้ ท่านขุนน้อยขุนใหญ่และไพร่พลต่างก็แยกย้ายพากันหาที่ทำเลที่เหมาะสม แล้วตั้งเป็นหมู่บ้านตามความพอใจ และยังมีพี่น้อง (ชาย) 2 คน พาหมู่ญาติมาถึงทำเลที่เหมาะ คือ ทางทิศเหนือมีหนองบัวใหญ่ ทิศใต้มีหนองบัวน้อย จึงพากันตั้งหมู่บ้านขึ้นเป็น บ้านปะอาวจนถึงทุกวันนี้  สำหรับความพิเศษของชุมชนคือ มีความสามารถในการหล่อหัตถกรรมทองเหลืองโบราณ ทำด้วยมือ ซึ่งการหล่อทองเหลือง มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญา ด้านการหล่อทองเหลือง และการสืบทอดการเขียนการอ่านใบลาน  รวมถึงศิลปะการทอผ้าไหมลายโบราณต่างๆโดยเฉพาะผ้าลายกาบบัวอีกด้วย
    

     ชื่อเสียงของผ้ากาบบัวแห่งอุบลราชธานี ได้รับการกล่าวขานถึงมาตั้งแต่ครั้งอดีต และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่าเป็นผ้าที่มีความประณีตงดงาม อันมีที่มาจากลวดลายของกลีบบัว และถือว่าเป็นผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนบ้านปะอาว เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ยังคงสืบสานหัตกรรมการทอผ้าพื้นเมืองนี้มาช้านาน จากที่มีการทอผ้าไว้สำหรับใช้ในครัวเรือน ก็มีการรวมกลุ่มตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้ากาบบัวบ้านปะอาว สร้างรายได้ เพิ่มความเข้มแข้งและยั่งยืนให้คนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ความรู้ ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน และผู้ที่สนใจ เป็นการอนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านนี้ให้สืบสานต่อไป  ความโดดเด่นของผ้ากาบบัวบ้านปะอาวคือ ฝีมือการทอผ้าที่งดงาม ผสานการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ ควบคู่กับการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้ากาบบัว ที่มีลักษณะเด่นคือ อาจทอด้วยผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมก็ได้ มีเส้นยืนย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้วตามลักษณะ ซิ่นทิวและยังมีการทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม(ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) หมัดหมี่ และขิด ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอของชุมชนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ปัจจุบันผ้ากาบบัวบ้านปะอาวนับเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อ สามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆได้มากมายหลายชนิด ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือกระเป๋า
     ขณะเดียวกันที่ตำบลปะอาวยังได้ส่งสินค้าประเภทผ้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย ซึ่งถือได้ว่าผ้าไหมจากบ้านปะอาวกระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์นั้น ทางด้านสหกรณ์บริการหัตถกรรมบ้านปะอาว จำกัด ศูนย์จำหน่ายสินค้า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" ได้สั่งยอดการทอผ้าไหมเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงเทศกาล และในช่วงเทศกาลจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เข้ามาศึกษาวิถีชีวิตการทอผ้า รวมทั้งการแปรรูป เนื่องจากที่ตำบลปะอาวจะมีความชำนาญในเรื่องของการผลิต แต่ยังไม่เก่งในเรื่องของการแปรรูปหรือการบรรจุหีบห่อ ซึ่งจะได้มีการแลกเปลี่ยนการทำง่านร่วมกันด้วย
   

     นอกจากนี้สินค้าซึ่งเป็นผ้าไหมจากบ้านปะอาวยังมีการนำออกไปจำหน่ายนอกสถานที่ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารออมสินสาขา จังหวัดอุบลราชธานี จากการนำสินค้าออกไปจำหน่ายทำให้ทราบว่ากระแสการตอบรับจากลูกค้าที่นิยมผ้าไหมดี ในวัดหนึ่ง ๆ สามารถจำหน่ายได้ถึงเกือบ 5,000 บาท ซึ่งต้องมีการวางแผนการตลาดให้ดีเพื่อผ้าไหมจะจำหน่ายได้ตลอดและเป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป
วิไล ทองล้วน สมาชิกกลุ่มทอผ้ากาบบัว ต.ปะอาว กล่าวว่า ที่กลุ่มทอผ้าตำบล ปะอาวถือเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมานานขึ้นชื่อในเรื่องของการทอผ้าไหม โดยมีลายไหมยอดนิยมได้แก่ ลายดอกแก้ว ดอกพิกุล และผ้ากาบบัว แต่ในปีนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ยอดการจำหน่ายลดลงจากเดิม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทุกคนอยู่กันอย่างพอเพียง ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะทอผ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่สหกรณ์ในตำบลอีกทอดหนึ่ง โดยคิดค่าแรงจากคุณภาพของงานที่ทอได้ หากเป็นผ้าประเภทผ้ากาบบัว จะได้ค่าแรงเป็นเงินราคมเมตรละ 70 บาท ผ้ามัดมี่เมตรละ 65 บาท ผ้าลายลูกแก้วเมตรละ 50 บาท มีสมาชิกที่ทอประจำอยู่ที่กลุ่มจำนวน 5 คน แต่เมื่อทอเสร็จจะส่งไปจำหน่ายที่สหกรณ์ประจำตำบลโดยมีราคาเมตรละตั้งแต่ 250 - 1,500 เป็นผ้าไหมด้วย



     สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ที่ตำบลประอาวจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาพักค้างคืนและจะมาเรียนรู้การทอผ้าจากชุมชนด้วย ก็เป็นผลพวงที่ช่วงนี้ทางกลุ่มต้องเร่งมือในการทอผ้าแต่ถ้าเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่ายอดการจำหน่ายลดลงแต่ก็พอทำให้ยอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งประอาวจะขึ้นชื่อในเรื่องผ้าไหม ทำให้ผู้ที่จะซื้อผ้าไหมต่างก็นึกถึงปะอาวเป็นอันดับแรก
ขณะที่ ผิว สอนไชย รองประธานกลุ่มทอผ้า บ้านชีทวน หมู่ 3 ต.ชีทวน กล่าวถึงการเตรียมรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางกลุ่มทอผ้าวัดพระธาตุสวนตาล ตำบลชีทวนซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 7 คน มีการเร่งทอผ้าซึ่งเป็นผ้าด้ายกาบบัวและผ้าไหมให้เพียงพอกับความต้องการ โดยทางกลุ่มจะมีกี่ซึ่งเป็นโครงไม้สำหรับทอผ้าจำนวน 7 หลัง ให้แก่สมาชิก แล้วนำมาแปรูปเป็นเสื้อ กระเป๋า ผ้าถุง และผ้าสำเร็จรูปอื่นๆ ซึ่งได้แนวทางการทำเป็นความรู้มาจากการทดลองทำและเรียนรู้การทำจากทางองค์กรพัฒนาชุมชน

      ที่ผ่านมาสินค้าส่วนใหญ่จะนำมาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวในตำบลชีทวน โดยเฉพาะที่วัดพระธาตุสวนตาลเพราะกลุ่มทอผ้าจะตั้งกลุ่มอยู่ที่วัดแห่งนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่วัดก็จะแวะซื้อของฝากจากกลุ่ม ซึ่งทุกวันนี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จัดเพิ่มมากขึ้น และทางกลุ่มเองก็มีองค์การบริหารส่วนตำบลเข้ามาสนับสนุนในเรื่องงบประมาณด้วย สินค้ามีจำหน่ายตั้งแต่ 20 - 200 บาท หากจำหน่ายเป็นผ้าสำเร็จรูปจะจำหน่ายในราคาเมตรละ 100 บาท เป็นลายปลาอีดซึ่งกำลังเป็นที่นิยม และราคาก็เป็นกันเองถือเป็นการสร้างวิสาหกิจชุมชนอีกรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันที่กลุ่มมีเงินหมุนเวียนที่ให้สมาชิกได้หยิบยืมได้จำนวน 10,000 บาท และเมื่อกลุ่มมีการจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมายจะมีการหักเข้ากลุ่มเป็นเงินกองทุนหมุนเวียนต่อร้อยละ 3 และในช่วงสงกรานต์ทางกลุ่มก็มีสินค้าเพียงพอที่จะรองรับกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างแน่นอน


     ผ้ากาบบัว เป็นชื่อในวรรณกรรมโบราณอีสาน ซึ่งไม่อาจทราบหรือพบในปัจจุบันแล้ว สีของกาบบัว หรือกลีบบัว ซึ่งไล่จาก สีอ่อนไปแก่ จากขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล ซึ่งผ้ากาบบัวมีความหมายและเหมาะสมสอดคล้องกับชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืน ย้อมอย่างน้อยสองสี เป็นริ้วตามลักษณะ ซิ่นทิวนอกจากนี้ ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด
  
     ผ้ากาบบัว (จก) คือ ผ้าพื้นทิว หรือผ้ากาบบัวเพิ่มการจกลาย เป็นลวดลายกระจุกดาว (บางครั้งเรียกเกาะลายดาว) อาจจกเป็นบางส่วนหรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า เพื่อสืบทอด ซิ่นหัวจกดาวอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะผ้าซิ่นเมืองอุบล ผ้ากาบบัว (จก) เหมาะที่จะใช้ในงานพิธี หรือโอกาสสำคัญ
ผ้ากาบบัว (คำ) คือ ผ้าทอยก บางครั้งเรียก ขิดด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) อาจสอดแทรกด้วยไหมเงินหรือไหมสีต่าง ๆ ต้องใช้ความประณีตในการทออย่างสูง เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณผ้าทอของเมืองอุบล
     ปัจจุบัน ผ้ากาบบัว มิได้นำมาตัดเย็บเป็นชุดแต่งกายสำหรับบุรุษ สตรี เท่านั้น หากนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆหลายหลากมากมาย ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นที่นำผ้ากาบบัวมาประกอบ มีความงาม มีคุณค่ามากขึ้น และมีหลายกลุ่มที่นำผ้ากาบบัวไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ ดังเช่น กลุ่มแปรรูปกระเป๋าจากผ้ากาบบัว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง สหกรณ์ศูนย์สินค้าเศรษฐกิจชุมชน 7 (วงเวียนหอนาฬิกา) ถนนแจ้งสนิท ตำบลในเมือง อำเภอเมือง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ชื่อร้านค้า : ทัศนีย์ สายใยไหมฝ้าย
ประเภทสินค้า : ผลิตภัณฑ์ผ้าทอต่างๆ
ชื่อผู้ประกอบการ : นางทัศนีย์ พรสี่
เบอร์โทรศัพท์ : 081-0760249 , 087-8688165 , 082-1537364
Facebook : ทัศนีย์สายใยไหมฝ้ายตำบลปะอาว
Line : 0918320224
สถานที่ติดต่อผู้ประกอบการ : 36 หมู่ที่ 5 บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
บัญชี/พร้อมเพย์ : 0918320224
******************************************

ความคิดเห็น