ข้าวสังหยดจีไอ (GI) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง พัทลุง


    


           ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของประเทศไทย กำลังประสบวิกฤตราคาผลผลิตตกต่ำ แต่สำหรับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลางผู้ปลูก ข้าวสังข์หยด จ.พัทลุงกลับขายข้าวได้มูลค่าสูง เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ “GI” (Geographical Indication) อีกทั้ง ต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่า และที่สำคัญ เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกด้านไว้ด้วยกัน ช่วยให้เติบโตและพึ่งพาตนเองได้ นับเป็นต้นแบบของการทำเกษตรยุคใหม่


               นัด อ่อนแก้ว ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เผยว่า เดิมในท้องถิ่น จ.พัทลุง ปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ ต่างคนต่างปลูก ไร้การวางแผน หรือรวมกลุ่มใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้บางปี มีผลผลิตออกมากจนล้นตลาด เกิดปัญหาราคาตกต่ำ ส่วนบางปี เกิดภัยธรรมชาติ ผลผลิตออกน้อย แทนที่จะขายได้ราคาสูง ก็เจอพ่อค้าคนกลางกดราคา
               เพื่อจะหนีวงจรดังกล่าว เมื่อปี 2540 ได้รวบรวมผู้ปลูกข้าวในท้องถิ่นตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และกำหนดกติกาจะเลือกปลูกข้าวเฉพาะพันธุ์ สังข์หยดเท่านั้น ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีการปลูกกันมากว่า 100 ปี ใน 1 ปีปลูกได้ครั้งเดียว เหมาะสมกับสภาพดินและอากาศของ จ.พัทลุง มีคุณสมบัติเด่นเป็นเมล็ดสีขาวปนแดงอ่อนๆ ถึงแดงเข้ม มีกลิ่นหอม ให้คุณประโยชน์ทางโภชนาการสูง ทั้งโปรตีน ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กสูง ฯลฯ ช่วยป้องกันความจำเสื่อม บำรุงโลหิต โรคหัวใจ เบาหวาน และมีกากใยสูงจึงดีต่อระบบขับถ่าย

               ในระยะแรก ข้าวสังข์หยดยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก ทางกลุ่มฯ และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกันผลักดันให้ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ “GI” (Geographical Indication) ตั้งแต่ปี 2548 เพราะเปรียบเหมือนการสร้างแบรนด์ท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้าที่จะหาได้เฉพาะ จ.พัทลุง เท่านั้น ช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น
               นัด เผยด้วยว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง มีสมาชิกกลุ่มฯ ปัจจุบันประมาณ 69 ครัวเรือน รวมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 900 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนช่องทางตลาดผ่านท็อปส์ 30% ส่วนที่เหลือ 70% ขายผ่านตัวแทนในท้องถิ่นกับออกงานโอทอปต่างๆ รวมถึงขายผ่านออนไลน์ ซึ่งทางกลุ่ม จะมีการประกันราคารับซื้อข้าวสังข์หยดให้สมาชิกที่ 15,000 บาทต่อตัน เฉลี่ยแล้ว สมาชิกจะมีรายได้ประมาณ 60,000-150,000 บาทต่อครัวเรือน (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก)


               “ก่อนจะมีการรวมกลุ่มกัน ราคาข้าวสังข์หยด เคยตกเหลือแค่ 3,500-4,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนการปลูกอยู่ที่ 6,500 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรผู้ปลูกประสบปัญหาขาดทุนมาตลาด แต่หลังจากกลุ่มฯของเราได้ขึ้นทะเบียน GI ข้าวสังข์หยดพัทลุง ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวสังข์หยดทั้งจังหวัดพัทลุง ขยับเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ปัจจุบันถึง 11,000-20,000 บาทต่อตัน ดังนั้น เกษตรกรในพัทลุง จึงไม่มีผลกระทบเรื่องราคาข้าวตกต่ำ เหมือนเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆเลย
ผลิตภัณฑ์และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์
               “ข้าวสังข์หยดเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำ จังหวัดพัทลุง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ในอดีตชาวบ้านจะปลูกข้าวสังข์หยดไว้เพื่อหุงกินกันภายในครอบครัว เมื่อหุงสุกแล้วมีลักษณะนิ่ม ค่อนข้างเหนียว รสชาติหอมนุ่มอร่อย ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ลักษณะเฉพาะของข้าวสังข์หยดพัทลุง เม็ดเรียวยาว มีสีแดงเข้ม รสชาติอร่อย เพราะ ดิน น้ำ สมบูรณ์ ทำให้เมล็ดข้าวสวยซึ่งเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทย ที่ได้รับการ ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) เพื่อคุ้มครองตามกฎหมายในสิทธิชุมชนผู้ผลิต ทั้งยัง ส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า เป็นเครื่องมือทางการตลาด สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน


               นอกจากนั้น ยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น นำข้าวสังข์หยด มาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถขายได้มูลค่าสูงขึ้นไปอีก เช่น ข้าวเส้น มักกะโรนี ตอกแผ่น ทองพับ ชมดาว ข้าวเกรียน ฯลฯ ปีที่แล้ว (2559) กลุ่มฯ มีรายได้จากผลิตภัณฑ์แปรรูปประมาณ 1.8 ล้านบาท และในอนาคตกำลังพัฒนามาตรฐาน เพื่อจะส่งผลิตภัณฑ์แปรรูปเข้าขายผ่านช่องทางของท็อปส์ต่อไป



ติดต่อสอบถามและขอรายละเอียดเพิ่มเติม
นัด อ่อนแก้ว ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ที่อยู่: กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง 7 หมู่ที่ 13 ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 93110
โทรศัพท์ : 074-693-393 , มือถือ 08-7286-6446



****************************************
ติดตามข้อมูล SME เกษตร ธ.ก.ส. เพิ่มเติมได้ที่
เฟสบุคแฟนเพจ  “SMAEs CLUB”  URL: https://m.facebook.com/smaesbaac/
เว็บไซต์ URL: https://smaesclub.com/

ความคิดเห็น